เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
JOKE หมายเหตุ พ.ศ. 2516-2566 By รวมนักเขียนขายหัวเราะ
  • รีวิวเว้ย (1511) เรื่องสนุกเป็นพื้นฐานของสังคมไทยมาตั้งแต่ครั้งก่อนเปลี่ยนชื่อประเทศ เพราะในบันทึกของฝรั่งที่เข้ามาค้าขายในดินแดนแถบนี้ย้อนกลับไปไกลถึงสมัยอยุธยาเคยบันทึกเอาไว้ว่านิสัยของคนสยาม "รักสนุก ชอบบันเทิง ขี้เกียจ แต่หัวเส" และเมื่อย้อนมองวัฒนธรรมความบันเทิงดั้งเดิมของสังคมอย่างการ "สวดคฤหัสถ์" ที่เป็นการสวดในช่วงเวลาหลังการสวดพระอภิธรรม เรียกได้ว่าหลังสวดศพก็จัดสวดคฤหัสถ์ เพื่อความบันเทิงกันต่อบนศาลาเดียวกันนั้นเลย และการสวดคฤหัสถ์ นี้เองที่มีคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นรากเริ่มแรกของสิ่งที่จะพัฒนาต่อมาเป็นจำอวดและตลก ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
    หนังสือ : JOKE หมายเหตุ พ.ศ. 2516-2566
    โดย : รวมนักเขียนขายหัวเราะ
    จำนวน : 235 หน้า
    .
    "JOKE หมายเหตุ พ.ศ. 2516-2566" หนังสือในวาระครบรอบ 50 ปี "ขายหัวเราะ" ตลอดเวลาที่ผ่านมาขายหัวเราะทำหน้าที่เสมือนหนึ่งช่องทางของการสร้างความสนุก (ตลก) ให้กับสังคมไทยผ่านรูปแบบของการเขียนในลักษณะของการ์ตูน ที่ในสมัยเด็กเรามักจะมีโอกาสได้อ่านขายหัวเราะในยามเข้าร้านตัดผม หรือหลายหนเราก็ซื้อเวียนกันอ่านในห้องเรียน เพราะการ์ตูนที่ปรากฏในเล่มเข้าใจได้โดยไม่ต้องพยายาม
    .
    หากแต่เมื่อเราอายุมากขึ้น และมีโอกาสได้ย้อนกลับไปอ่าน "ขายหัวเราะ" ฉบับเก่า ๆ เราจะพบว่าหลายเรื่องที่ปรากฏอยู่ในการ์ตูนของขายหัวเราะ เรียกได้ว่าเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของสังคมไทยและของโลก ณ ช่วงเวลานั้นเอาไว้ ในหลายเรื่องของการ์ตูนที่เราไม่เข้าใจในสมัยเป็นเด็ก (หรือเข้าใจมันตรง ๆ ผ่านรูปในหนังสือ) พออายุมากขึ้นเรากลับเข้าใจสารบางอย่างที่ปรากฏอยู่ต่างออกไป ซึ่งแน่นอนว่าการ์ตูนในขายหัวเราะอาจจะไม่แฝงความหมายหรือนัยอยู่ตลอดทั้งเล่มหากแต่ในหลายเรื่องเราพบว่านัยบางอย่างของการสื่อสารของขายหัวเราะทำหน้าที่ในลักษณะเดียวกันกับ "จดหมายเหตุ" หรือที่เล่มนี้ใช้คำว่า "JOKE หมายเหตุ"
    .
    สำหรับเนื้อหาของ "JOKE หมายเหตุ พ.ศ. 2516-2566" คือ การรวบรวมและคัดเลือกเอาผลงานของขายหัวเราะที่ทำหน้าที่บันทึกประวัติศาสตร์ผ่านกรอบของการ์ตูนนับตั้งแต่ พ.ศ. 2516 ถึง พ.ศ. 2566 มารวมไว้ด้วยกันในเล่ม "JOKE หมายเหตุ พ.ศ. 2516-2566" และมีการเพิ่มเติมข้อมูลที่ขยายความของการ์ตูนชิ้นต่าง ๆ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมา ทั้งการบอกเล่าเรื่องของเหตุการณ์ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างงานและบอกเล่าเรื่องราวของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ณ ช่วงเวลานั้น
    .
    น่าสนใจว่าหากผ่านไป 100 ปี แล้วผลงานของขายหัวเราะถูกศึกษาโดยนักประวัติศาสตร์ในยุคหลัง อาจจะตั้งโจทย์ขึ้นมาสักเรื่องและใช้การ์ตูนในหนังสือขายหัวเราะเป็นเอกสารชั้นต้น คงน่าสนุกมิใช่เล่นหากในวันหนึ่งข้างหน้ามีการศึกษาในลักษณะนี้ปรากฏขึ้น เพราะ "JOKE หมายเหตุ พ.ศ. 2516-2566" แสดงให้เห็นโดยนัยแล้วว่าการ์ตูนที่ปรากฏอยู่ในเล่มต่าง ๆ ของขายหัวเราะมาตลอด 50 ปีนั้น ทำหน้าที่ได้ในแบบเดียวกันกับเอกสารบันทึกการประชุมรัฐสภาหรือเอกสารชั้นต้นทางประวัติศาสตร์ในรูปแบบของบันทึกแห่งยุคสมัย

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in