เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เอ๊ะ!! เจป๊อป A GUIDE TO JAPANESE POPULATIONSALMONBOOKS
นักเขียนมังงะ: จินตนาการบนหน้ากระดาษ

  • ในช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟูฟ่องเมื่อช่วงปี 80s ธุรกิจของญี่ปุ่นเริ่มออกไปบุกโลกด้วยการไปตั้งกิจการในประเทศต่างๆ ทำให้อเมริกาเกิดกระแสหวาดกลัวชาวญี่ปุ่นอย่างมาก ดูได้จากการมอบบทบาทตัวร้ายในสื่อบันเทิงให้กับชาวญี่ปุ่น

    แต่พอตัดฉับมาที่ช่วงปี 00s วัยรุ่นอเมริกันยุคเจเนอเรชั่นวายก็ลืมไปหมดว่าเคยตั้งแง่กับคนแดนปลาดิบ กลับกัน ดันโอบรับ ‘มังงะ’ และ ‘อนิเมะ’ วัฒนธรรมจากดินแดนตะวันออกแห่งนี้แบบเต็มตัว

    ป้จจุบัน ตลาดมังงะและอนิเมะในสังคมตะวันตกขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ การ์ตูนอย่าง นารูโตะ หรือ Full Metal Alchemist  ทำยอดขายได้เทียบเท่าคอมิค (Comic) ของคนตะวันตก ซึ่งก็ต้องยกความดีความชอบส่วนหนึ่งให้กับรัฐบาลที่หันมาส่งออกสิ่งเหล่านี้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ก็ให้ค่าความดีความชอบแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะคนที่น่าจะได้รับการยกย่องมากที่สุดน่าจะเป็น‘เซนเซ’ หรือ ‘อาจารย์’ (ที่ในทางหนึ่งก็หมายถึง ‘นักวาดการ์ตูน’ มากกว่า)

    ก่อนจะเข้าเรื่องคนเขียน ผมขอสรุปแบบรวดรัดว่า ‘มังงะ’ (漫画) หรือ ‘ภาพที่เขียนอย่างหละหลวม’ คือ การเล่าเรื่องด้วยภาพที่มีคำพูดเป็นส่วนประกอบ ซึ่งสิ่งที่ทำให้มังงะต่างไปจาก ‘นิยายภาพ’ (Graphic Novel) ของทางยุโรป จนกลายเป็นศิลปะอีกแขนงไปได้ก็คือ สไตล์การเล่าเรื่องที่ใช้ภาพเป็นตัวนำ และการแบ่งช่องที่ดูแล้วลื่นไหลต่อเนื่องคล้ายกับการเอาฟิล์มหนังมาตัดเรียงกันใหม่ อีกทั้งมีการใช้เส้นสปีด (หรือเส้นขีดๆ ที่เราเห็นในมังงะ) ที่ทำให้ภาพดูมีการเคลื่อนไหวอย่างเต็มที่ ต่างกับนิยายภาพหรือคอมิคที่ภาพจะนิ่งและเน้นเล่าเรื่องผ่านการบรรยายเป็นพืด
  • หากต้องการสืบค้นรากเหง้าที่แท้จริงของมังงะก็คงต้องย้อนกลับไปในยุคเอโดะ (ยุคที่เพิ่งย้ายเมืองหลวงมาตั้งอยู่ที่โตเกียว) ตอนนั้นบ้านเมืองเป็นปึกแผ่น การค้าขายรุ่งเรือง และเป็นช่วงที่เกิดศิลปะแขนงใหม่อย่าง ‘อุคิโยะเอะ’ (浮世絵) หรือ ‘ภาพของโลกที่ล่องลอย’ ซึ่งเป็นงานภาพพิมพ์ไม้ที่ต่างจากงานศิลปะแบบเดิมตรงที่อุคิโยะเอะสามารถผลิตภาพนั้นเป็นจำนวนมากได้ ขณะที่ภาพดั้งเดิมจะมีแค่ภาพเดียวแล้วจบไป

    ภาพของอุคิโยะเอะส่วนใหญ่มักจะเป็นสาวงาม ภาพผี ภาพวิวทิวทัศน์ ไปจนกระทั่งภาพการร่วมรักแบบวิจิตรพิสดาร โดยหนึ่งในศิลปินดังของยุคนั้นคือ ฮคคุไซ (Hokusai) ซึ่งเมื่อดูผลงานของเขาแล้วก็มีส่วนหนึ่งที่ถูกมองว่าเป็นต้นตำรับของมังงะได้ เพราะมันคืองานรวมภาพวาดสิ่งที่พบเห็นในชีวิตประจำวันที่บ้างก็สมจริงและบ้างก็เหนือจินตนาการ เช่น สัตว์ที่มีพฤติกรรมเหมือนคนหรือภูตญี่ปุ่น แถมงานบางชิ้นมีการแบ่งช่องเล่าเรื่องต่างๆ ด้วย ถือเป็นงานดูได้เพลินๆ สนุกๆ
    ผู้อ่านอาจคิดว่าไม่เห็นมันจะมีเค้าเหมือนมังงะตรงไหน แต่ที่น่าสนใจคือ มันมีชื่อเรียกว่า ‘ฮคคุไซมังงะ’ นั่นเอง ถือได้ว่าเป็นการใช้คำว่ามังงะครั้งแรกๆ เลยก็เป็นได้

    หลังจากยุคของฮคคุไซ งานของศิลปินญี่ปุ่นก็เข้าสู่ยุคของการวาดภาพล้อเลียน เช่น การวาดภาพล้อเลียนสถานการณ์ทางการเมืองในยุคนั้น (เหมือนการ์ตูนล้อการเมืองตามหน้าหนังสือพิมพ์บ้านเรานั่นแหละครับ) เช่น โปสเตอร์ชวนเชื่อ (Propaganda) ก่อนสงครามโลกที่จับเอาผู้นำชาติคู่อริมาล้อเลียน แต่วิธีการเล่าก็ยังไม่คล้ายกับปัจจุบันอยู่ดี ซึ่งถ้าจะให้บอกจุดเริ่มต้นของมังงะแบบที่เราอ่านกันอยู่ในทุกวันนี้ก็ต้องบอกว่ามันเริ่มจากช่วงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยผู้บุกเบิกที่ชื่อว่า โอซามุ เทะซึกะ (Osamu Tezuka) ทาคาชิ มุราคามิ (Takashi Murakami) หนึ่งในศิลปินชื่อดังชาวญี่ปุ่นบอกว่า หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง คนญี่ปุ่นพยายามหาสิ่งมาลบล้างความมั่นใจและอารมณ์เกรี้ยวกราดของตนเองด้วยการหันไปหาสิ่งสวยๆ งามๆ มาชโลมจิตใจ จากที่เสพแต่ภาพเหมือนล้อเลียนการเมืองก็หันไปอ่านมังงะเบาสมอง เช่น ซาซาเอะซัง มังงะสี่ช่องจบว่าด้วยเรื่องราวของครอบครัวในโตเกียว (ได้รับความนิยมถึงขนาดถูกนำมาทำเป็นอนิเมะฉายทางทีวีจนถึงทุกวันนี้) จนกระทั่งมีผลงานของชายที่ชื่อโอซามุ จุดเริ่มต้นของมังงะก็เริ่มขึ้นในทันที

    การออกแบบคาแรคเตอร์ของวอลต์ ดิสนีย์ คือแรงบันดาลใจชั้นดีของโอซามุ เขานำมันมาปรับแต่งจนเกิดตัวละครที่มีลักษณะเป็นตัวการ์ตูนแท้ๆ ไม่ใช่การวาดสิ่งที่เหมือนมนุษย์เป๊ะๆ แต่ทำให้มันมีความยืดหยุ่น ดูออกว่านี่คือตัวการ์ตูนที่สร้างมาจากจินตนาการ และยังใช้วิธีการเล่าเรื่องด้วยการเคลื่อนไหวของภาพแบบที่กล่าวไป อีกทั้งสร้างผลงานที่มีความหลากหลาย เล่าได้ตั้งแต่วิทยาศาสตร์ สังคม ประวัติศาสตร์ การเมือง แพทย์ ศาสนา ไปจนถึงปรัชญา โอซามุจึงได้ชื่อว่าเป็นปรมาจารย์แห่งมังงะไปโดยปริยาย (ต่อมา เขาก็กลายเป็นผู้บุกเบิกอนิเมะด้วย) 

    นอกจากนี้ เขายังเป็นหนึ่งในตำนานของ ‘บ้านโทคิวะ’ บ้านเช่าที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งกำเนิดเทพนักเขียนมังงะอีกหลายท่าน ‘โทคิวะโซ’ หรือ ‘บ้านโทคิวะ’ (จริงๆ โซ ควรแปลว่าแมนชั่นหรือวิลล่า แต่ผมขอใช้คำไทย อบอุ่นๆ ว่า ‘บ้าน’ แล้วกันครับ) คืออพาร์ตเมนต์ที่โอซามุเคยพักอาศัยเป็นเวลาหนึ่งปี ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เขาก็อาศัยตามอพาร์ตเมนต์ทั่วไป แต่พอโดนกองบรรณาธิการไปตามงานบ่อยเข้า เจ้าของอพาร์ตเมนต์ก็ไม่พอใจ หาว่าการที่กองฯ วิ่งเข้าวิ่งออกทั้งวันทั้งคืนมันรบกวนผู้เช่ารายอื่น (ต่างจากยุคนี้ที่ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กก็ทวงได้แล้ว) ลูกเจ้าของสำนักพิมพ์จึงเสนอให้โอซามุมาพักอยู่ที่อพาร์ตเมนต์เดียวกับเขา แล้วพอโอซามุหอบผ้าหอบผ่อนมาอยู่จริง สำนักพิมพ์ก็ตัดสินใจให้นักเขียนที่มีผลงานตีพิมพ์ในนิตยสารมาพักอยู่ที่เดียวกันไปเลยเพื่อจะได้ทวงงานสะดวกๆ

    บ้านโทคิวะจึงกลายเป็นแหล่งผลิตนักเขียนมังงะที่ต่อมาได้สร้างชื่อให้กับวงการมากมาย ตั้งแต่ โชทาโร่ อิชิโนะโมริ (Shoutaro Ishinomori) ผู้สร้าง ไอ้มดแดง (คาเมนไรเดอร์) และเหล่าขบวนการ 5 สี ซูเปอร์เซนไต ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ  (Fujiko Fujio) ดูโอนักเขียนที่สร้างผลงานสารพัดตั้งแต่ โดราเอมอน ผีน้อยคิวทาโร่ ปาร์แมน ฟุจิโอะ อาคาซึคะ (Fujio Akatsuka) ผู้เขียน เท็นไซบากะบอง มังงะตลกชื่อดัง ฯลฯ 

    บ้านโทคิวะจึงกลายเป็นแหล่งผลิตนักเขียนมังงะหน้าใหม่ไฟแรงที่ต่างก็เขียนงานแข่งกัน ตกเย็นก็มานั่งสังสรรค์แลกเปลี่ยนความเห็น ช่วยกันส่งเสริมพัฒนางาน จนเรียกได้ว่าเป็นหมุดหมายสำคัญของวงการมังงะ (ปัจจุบัน แม้ตัวบ้านไม่อยู่แล้ว แต่รัฐบาลท้องถิ่นก็มีแนวคิดจะสร้างบ้านที่คล้ายกับบ้านโทคิวะเพื่อกระตุ้นนักเขียนรุ่นใหม่อีก)

    หลังจากยุคของโอซามุและสมาชิกบ้านโทคิวะ มังงะของญี่ปุ่นก็ถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จากที่เคยเป็นแค่สิ่งบันเทิงคั่นเวลาก็ถูกนำไปทำเป็นอนิเมะ ละครทีวี ภาพยนตร์ จนทำให้มันไม่ใช่เรื่องของเด็กอีกต่อไป

  • เห็นแบบนี้ หลายคนอาจคิดว่าการเป็นนักเขียนมังงะนั้นง่าย แค่วาดรูปเป็นก็มีสิทธิ์ประกอบอาชีพสายนี้ได้แล้ว ขอบอกว่าคิดผิดนะครับ นักวาดมังงะไม่ใช่อาชีพที่ใช้วุฒิการศึกษาสมัครได้ การจะเป็นได้นั้นต้องใช้ผลงานพิสูจน์ตัวเอง แถมต้องได้ตีพิมพ์งานแบบเป็นจริงเป็นจัง ไม่ใช่แค่วาดแล้วพิมพ์เองขายเองเป็นครั้งคราว

    ช่วงแรก นักเขียนมังงะแทบทุกคนต้องลองวาดเรื่องส่งไปให้ทางสำนักพิมพ์ดู หากเขาสนใจก็อาจจะเรียกเข้าไปคุย ถ้าโชคดีหน่อยก็จะได้รับคอมเมนต์ให้ไปขัดเกลา หรือไม่ก็แนะนำให้ส่งประกวด เพื่อที่ว่าถ้าเรื่องนั้นถูกใจคนอ่านก็มีสิทธิ์ที่จะได้เขียนการ์ตูนตีพิมพ์ลงในนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์แบบเป็นเรื่องเป็นราว

    นักเขียนมังงะในปัจจุบันจัดว่าเป็นอาชีพที่เหมือนจะมีอิสระ แต่ก็ไม่อิสระเท่าไหร่ แม้จะได้ทำงานที่บ้าน ไม่ต้องมีเครื่องแบบ ทำงานตอนไหนก็ได้ แต่สุดท้าย ก็โดนสิ่งที่เรียกว่าเดดไลน์จี้ไล่หลังอยู่ดี จึงสามารถเรียกได้ว่า พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ทำงานหนัก โดยเฉพาะพวกนักเขียนมังงะรายสัปดาห์ อย่าคิดว่าจะได้โงหัวหายใจครับ ทำงานหามรุ่งหามค่ำ แทบไม่มีเวลาพัก ต่อให้มีวันหยุดยาวก็ต้องปั่นต้นฉบับส่งล่วงหน้าให้ก่อน

    ยังดีที่นักเขียนญี่ปุ่นสามารถจ้างทีมงานได้ เหตุผลส่วนหนึ่งก็เพราะพวกเขาสร้างรายได้ให้สำนักพิมพ์มากพอที่จะยอมลงทุนจ้างทีมงานมาช่วยตัดเส้น ถมดำ วาดฉากหลัง หรือลงดีเทลตัวประกอบบ้าง

    อันที่จริง ต้องบอกว่าการเป็นผู้ช่วยนั้นถือเป็นหนึ่งในการฝึกฝีมือเตรียมลงสนามจริง เพราะนักเขียนมังงะที่ดังๆ ในทุกวันนี้ก็ล้วนแต่เคยเป็นผู้ช่วยมาแล้วทั้งนั้น อย่าง เออิจิโร่ โอดะ (Eiichiro
    Oda) ผู้เขียน วันพีซ ก็เคยเป็นผู้ช่วยให้ผู้เขียนเรื่อง ซามูไรพเนจร และ ทาร์จังเจ้าป่า

    แต่ถึงงานจะหนัก นักเขียนมังงะก็มีตัวช่วยเป็นกองฯ ที่จะมาช่วยดูแลว่าแนวเรื่องควรไปทางไหน ตอนนี้ตลาดสนใจอะไร ควรจะวางโครงไปทางใด เพื่อที่คนจะอยากติดตามอ่านและอยากซื้อรวมเล่ม

    จะว่าไปก็เหมือนกับสำนักพิมพ์เห็นนักเขียนเป็นทรัพยากร แทนที่จะปล่อยให้ลุยงานตัวคนเดียว ก็หาคนช่วยเพื่อให้งานออกมาได้ดีขึ้น กองบรรณาธิการก็เหมือนกับโปรดิวเซอร์ที่จะดึงเอาจุดแข็งของนักเขียนออกมานั่นแหละครับ (แต่บางทีเชื่อโปรดิวเซอร์มากไปก็ไม่ดี บางเรื่องถูกยืดไม่ให้จบก็เพราะโปรดิวเซอร์อยากให้เขียนต่อเพราะขายได้ กลายเป็นว่าออกมาไม่ดี โดนคนอ่านด่า และโดนตัดจบแทนในท้ายที่สุด)

    ถึงจะดังขนาดไหน แต่การเป็นนักเขียนมังงะก็ไม่มีใครการันตีได้ว่าเราจะไม่ตกยุคนะครับ หากไม่มีผลงานดังๆ แบบที่เก็บกินค่าลิขสิทธิ์ต่อไปได้เรื่อยๆ (เช่น ดราก้อนบอล หรือ วันพีซ) พอเวลาผ่านไปก็อาจถูกลืม เหมือนนักเขียนมังงะบางคนที่ต้องหันไปเขียนมังงะโป๊ หรือบางคนก็กะเข้ามากอบโกยแค่ช่วงเดียว ใช้จุดเด่นที่มีเป็นจุดขาย เช่น นะยุคะ มิเนะ (Nayuka Mine) อดีตดาราหนังเอวีที่หันมาเอาดีด้านการเขียนมังงะ หรือ มิวะ ฮินาคิ (Miwa Hinaki) นักเขียนสาวที่ไม่เปิดเผยตัว แต่บอกแค่ว่าเป็นนักเขียนมังงะพร้อมๆ กับทำอาชีพเป็นเคียบะโจ (สาวนั่งดริ้งก์) ซึ่งเธอก็นำประสบการณ์ตรงนั้นมาแฉให้คนอ่านได้ฮาจนท้องแข็ง

    ไม่น่าเชื่อนะครับว่าจากที่ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตกอยู่ดีๆ พอนานวันจะพัฒนาจนได้แนวทางของตัวเอง และกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างรายได้ให้กับประเทศมูลค่ามหาศาล 

    บางทีก็สมควรแล้วล่ะครับที่พวกเขาได้รับการยกย่องให้เป็น ‘เซนเซ’  


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in