เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
เสียดินแดนมลายู ประวัติศาสตร์ชาติ ฉบับ Plot Twist By ฐนพงศ์ ลือขจรชัย
  • รีวิวเว้ย (1815) ตอนเด็กเคยเรียนกันมาในโรงเรียนไทยว่า "ประเทศไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร" แต่ก็ในห้องเรียนเดียวกันนั้นแหละที่สอนว่า "เราเสียดินแดนให้กับฝรั่งเศส อังกฤษ เพื่อที่เราจะรักษาเอกราชความเป็นชาติไทยของเราเอาไว้" คล้ายดังคำเปรียบว่าเสียแขนเสียขาเพื่อรักษาชีวิต และแน่นอนว่าทุกวันนี้หลายคนที่ได้รับการศึกษามาในโรงเรียนไทยที่มุ่งเน้นท่องจำ หากแต่ขาดความสามารถในการคิดวิเคราะห์หรือกระทั่งขาดความสามารถทางปัญญาในการแสวงหาชุดข้อมูลที่แตกต่างหลากหลาย ก็มักเชื่อว่าการเสียดินแดนของไทยเป็นผลจากการรุกรานของต่งชาติแต่เพียงเท่านั้น หากแต่ถ้าลองศึกษาประวัติศาสตร์เรื่องเดียวกันจากมุมมองอื่นอาจจะช่วยให้สมองได้ทำงานมากขึ้นก็เป็นไปได้
    หนังสือ : เสียดินแดนมลายู ประวัติศาสตร์ชาติ ฉบับ Plot Twist
    โดย : ฐนพงศ์ ลือขจรชัย
    จำนวน : 288 หน้า
    .
    พอเราโตขึ้นเรียนหนังสือที่นอกกรอบของกระทรวงศึกษามากขึ้น ทำให้ได้เข้าใจอะไรหลายอย่างมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการสร้างชาติผ่านระบบ "การศึกษา" ที่ในยุคสมัยหนึ่งตำราเรียนประวัติศาสตร์ไทยและตำราเรียนสังคมศึกษา ถูกจัดระบบความคิดตามที่ผู้มีอำนาจในรัฐต้องการให้เยาวชนของตนรู้ อย่างกรณีของการเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นมาจากการที่พระเจ้าแผ่นดินช่วงเวลานั้นอ่อนแอและโจมตีว่าพระเจ้าแผ่นดินของราชวงศ์ดังกล่าวแย่งชิงเอาความชอบธรรมมาบุญญาบารมีไม่ถึงขั้นทำให้ต้องเสียกรุงศรีฯ ครั้งที่ 2 ซึ่งเมื่อโตขึ้นมากลับพบว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายชิ้นไม่ได้บ่งบอกไปในทิศทางที่ตำราสังคมศึกษาบอกแต่เพียงด้านเดียวหากแต่มีมุมมองหลักฐานและข้อชวนคิดใหม่ต่อกรณีดังกล่าวอีกหลายแง่มุม ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าการออกแบบแบบเรียนไทยนั้นเป็นผลพวงจากแบบเรียนในยุค "สร้างชาติ" ที่มุ่งเน้นการสร้างความเป็น "ชาตินิยม" ในตัวผู้เรียน และเหตุการณ์การเสียดินแดนก็เป็นหนึ่งในกลไกหลักที่ถูกนำมาใช้ในแบบเรียน 
    .
    "เสียดินแดนมลายู ประวัติศาสตร์ชาติ ฉบับ Plot Twist" เป็นหนังสือที่พัฒนามาจากวิทยานิพนธ์ที่มุ่งศึกษาในเรื่องของการเสียดินแดนมลายูของสยามให้กับอังกฤษภายใต้โจทย์ใหญ่ 2 ข้อ ว่าแท้จริงแล้วสยาม-ไทยไทย (1) เสียดินแดนจริง ๆ หรือ ? และ (2) ดินแดนตรงแถบนั้นเป็นของสยาม-ไทยจริง ๆ ดิ ? ซึ่งในท้ายที่สุดงานชิ้นนี้พาเราไปแสวงหาคำตอบว่าแท้จริงแล้วประวัติศาสตร์ของการเสียดินแดน (มลายู) นั้นอาจจะไม่เป็นจริงตามที่ถูกปลูกฝังสั่งสอนมาก็เป็นได้ 
    .
    "เสียดินแดนมลายู ประวัติศาสตร์ชาติ ฉบับ Plot Twist" ได้ฉายให้เห็นภาพของการต่อรองผลประโยชน์ระหว่างสยามและอังกฤษโดยมีดินแดนมลายูเป็นตัวแลกเปลี่ยนสำคัญกับสิ่งที่สยามพึงได้และอยากได้จากอังกฤษ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วการเสียดินแดนมลายูของสยามนั้นอาจจะเป็นเพียงการปกปิดความจริงบางประการของสยามในช่วงเวลาดังกล่าว และอาจจะเป็นการปกปิดความจริงเพื่อสร้างความชอบธรรมมาถึงในแบบเรียนในยุคสมัยที่พวกเราเป็นเด็ก (หรือไม่เช่นนั้นก็คนทำแบบเรียนไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ และเชื่ออย่างฝังใจว่าเราเสียดินแดนไปจริง ๆ เพื่อปกป้องเอกราชของชาติสยาม) 
    .
    โดยที่เนื้อหาของ "เสียดินแดนมลายู ประวัติศาสตร์ชาติ ฉบับ Plot Twist" แบ่งออกเป็น 4 บทดังนี้
    .
    บทที่ 1 รัฐจารีตสยามสู่ระเบียบโลกใหม่
    .
    บทที่ 2 การเจรจาสนธิสัญญา ค.ศ. 1909 ระหว่างสยามกับอังกฤษ
    .
    บทที่ 3 ปัจจัยที่มีผลต่อการเจรจาในสนธิสัญญา ค.ศ.1909 ระหว่างสยามกับอังกฤษ (1)
    .
    บทที่ 4 ปัจจัยที่มีผลต่อการเจรจาในสนธิสัญญา ค.ศ.1909 ระหว่างสยามกับอังกฤษ (2)
    .
    เอาเป็นว่า "เสียดินแดนมลายู ประวัติศาสตร์ชาติ ฉบับ Plot Twist" จะช่วยให้เราเข้าใจบริบทของการเสียดินแดนของสยามโดยเฉพาะดินแดนมลายูที่สยามเสียไป (รึเปล่านะ ?) ให้กับอังกฤษ ว่าบางครั้งบางทีสิ่งที่ตาเห็น หูฟัง อาจจะไม่เป็นเรื่องจริงเสมอไปก็เป็นได้ แต่ที่สำคัญไปกว่า "เสียดินแดนมลายู ประวัติศาสตร์ชาติ ฉบับ Plot Twist" ย้ำเตือนกับผู้อ่านว่าเหตุการณ์หนึ่ง ๆ ทางประวัติศาสตร์จำเป็นที่จะต้องถูกตรวจสอบ ตั้งคำถามและแสวงหามุมมองต่าง ๆ จากเรื่องเล่าที่ต่างออกไปต่อเหตุการณ์นั้น มิเช่นนั้นเราอาจจะกลายเป็นเครื่องมือของรัฐดังที่รัฐต้องการสร้างชาติผ่านความคิดและความเชื่อของผู้คนที่ปรากฏอยู่บนแบบเรียนของรัฐไทย
    .
    หมายเหตุ: ปรับปรุงจากการรีวิวครั้งแรกเมื่อ 28 มีนาคม 2562

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in