รีวิวเว้ย (1852) ย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน สมัยที่นั่งเรียนในวิชาการเมืองการปกครองไทย ที่มีอาจารย์ผู้สอนคือนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อดีตนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทยโดยเฉพาะในช่วง พ.ศ. 2475 ข้อสอบในครั้งนั้นของวิชาการเมืองการปกครองไทยมีข้อหนึ่งถามว่า "นักศึกษาคิดว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 เป็นการชิงสุกก่อนห่ามหรือไม่จงอธิบาย" แน่นอนว่าแนวคิดในเรื่องของการ "ชิงสุกก่อนห่าม" ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นั้นในห่วงเวลาหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยแนวคิดดังกล่าวถูกพูดถึงและให้ค่าน้ำหนักโดยนักวิชาการผู้ใหญ่หลายท่านของสังคมนี้ กระทั่งแนวคิดดังกล่าวได้กลายมาเป็นหนึ่งในแนวคิดสำคัญที่ถูกฉวยใช้ในการอธิบายเหคุการณ์ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และในการสอบในวิชาการเมืองการปกครองไทยในครั้งนั้นเราเขียนตอบไปในข้อสอบว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 (เท่าที่จำได้ว่า) "มิใช่การชิงสุกก่อนห่าม เพราะสังคมสยายในช่วงเวลานั้นได้มีการวางรากฐานของความต้องการในการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาก่อนหน้านั้นบ้างแล้ว"

หนังสือ : สยามปฏิวัติ: จาก 'ฝันละเมอ' สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่อภิวัฒน์สยาม 2475
โดย : ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ บทนำ กษิดิศ อนันทนาธร คำบรรยาย
จำนวน : 160 หน้า
.
"สยามปฏิวัติ: จาก 'ฝันละเมอ' สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่อภิวัฒน์สยาม 2475" หนังสือที่รวบรวมเอารากฐานของแนวคิด ความต้องการ ความพยายาม และความฝันถึงสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ที่เกิดขึ้นในสังคมสยามตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่ถือได้ว่างานเขียนและแนวคิดต่าง ๆ เหล่านี้เป็นรากฐานของการเตรียมความคิดให้กับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะข้อเขียนแต่ละชิ้นที่ปรากฏอยู่ใน "สยามปฏิวัติ: จาก 'ฝันละเมอ' สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่อภิวัฒน์สยาม 2475" คือหลักฐานที่บอกเล่าว่าก่อนหน้าคณะราษฎรนั้นมีคณะและบุคคลที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสังคมสยาม
.
สำหรับเนื้อหาของ "สยามปฏิวัติ: จาก 'ฝันละเมอ' สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่อภิวัฒน์สยาม 2475" คือการรวบรวมเอาข้อเขียนชิ้นสำคัญที่เป็นส่วนหนึ่งของการวางรากฐานการเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เพียงบางส่วนมารวมเข้าไว้ด้วยกันในเล่ม อันประกอบไปด้วย
.
ประกาศคณะราษฎร : คณะราษฎร
.
มนุษยภาพ : กุหลาบ สายประดิษฐ์
.
ว่าด้วยความเสื่อมซามแลความเจรีญของประเทศ : ร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์)
.
คำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ. ๑๐๓ : พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ และคณะ
.
พระราชดำรัสตอบความเห็นของผู้จะให้เปลี่ยนการปกครอง จ.ศ. ๑๒๔๗ : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
.
อีกทั้งยังมีเนื้อหาในส่วนของ (1) บทนำ สยามปฏิวัติ ความคิดประชาธิปไตยสยามสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ และ (2) บันทึกการออกแบบ : กิตติพล สรัคคานนท์ นอกจากนั้นเนื้อหาในแต่ละส่วนของ "สยามปฏิวัติ: จาก 'ฝันละเมอ' สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่อภิวัฒน์สยาม 2475" ก่อนที่จะเข้าสู่เอกสารที่หนังสือได้รวมรวมมา ยังมีบทบรรยายที่จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจที่มาที่ไปของบุคคล หรือคณะบุคคลผู้ที่สร้างเอกสารหรือแนวคิดแต่ละชิ้นที่ปรากฏใน "สยามปฏิวัติ: จาก 'ฝันละเมอ' สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่อภิวัฒน์สยาม 2475" ขึ้นมา เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจบริบทแวดล้อม ที่มาที่ไป กระทั่งแนวคิดตัวตนของบุคคลหรือคณะบุคคลผู้ทำหน้าที่รจนาเอกสารแต่ละชิ้นขึ้นมา
.
หากย้อนกลับไปในช่วงที่ผู้เขียนเรียนวิชาการเมืองการปกครองไทยของนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และต้องตอบข้อสอบในเรื่องของ "การชิงสุกก่อนห่าม" อีกครั้งหนังสือ "สยามปฏิวัติ: จาก 'ฝันละเมอ' สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่อภิวัฒน์สยาม 2475" เล่มนี้จะยิ่งช่วยทำหน้าที่ในการยืนยันคำตอบของผู้เขียนที่ว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มิใช่การชิงสุกก่อนห่าม
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in