เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
The Friendly WindMister Tok
ตัวพิมพ์ไทยดิจิทัลที่รัก : แกะรอยประวัติศาสตร์ Desktop Publishing ในประเทศไทย




  • Disclaimer :

    บทความเชิงสารคดีเรื่องนี้มีการอ้างอิงที่มาหลาย ๆ แหล่ง ซึ่งอาจจะไม่สมบูรณ์แบบตามฉบับของสารานุกรม/ปทานุกรมได้ ดังนั้น บทความนี้จะสามารถอัพเดตหลาย ๆ ครั้งนาน ๆ ทีหากมีข้อมูลใหม่มาเสริมข้อมูลที่มีอยู่เดิมเพื่อความสมบูรณ์ของเนื้อหาที่จะได้อ่านกัน…ต่อจากนี้ (และขออภัยที่อาจมีข้อมูลขาดตกบกพร่องบ้าง)


    - บทนำ -

    ค่ำวันนั้นที่เรากำลังหางานกราฟิกอยู่ แต่ก็ขี้เกียจประสาคนช่างฝันที่อยากเป็นอาร์ตไดเพลง T-POP เราเลยจับคู่ฟอนต์ไทยและลองพิมพ์เลย์เอาท์เนื้อเพลงไทยป๊อปยุค 80s ดูว่าฟอนต์ไหนเข้าล็อกกว่ากัน ระหว่างนั้นไอเดียงานวาดเล่น ๆ ก็ผุดขึ้นมาแบบวันต่อวัน แต่ไม่สำคัญเท่าธีสิสปริญญาโทที่เข้าสู่โค้งสุดท้ายแล้ว จะต้องจบให้ได้


    ในเวลาเดียวกัน เมื่อมองย้อนไปในมุมมองนักสร้างสรรค์นั้น กว่าที่เราจะมีคอมพิวเตอร์/IPad ให้เราปลดปล่อยตัวเองไปตามลำธารของงานศิลปะนั้น มันช่างยาวนานเหลือเกิน ถ้าย้อนมองดูว่าการมีคอมพิวเตอร์ออกแบบงานกราฟิก/สื่อสิ่งพิมพ์เมื่อ 40 ปีก่อนมันใหม่มาก และยังมีการพัฒนาจนถึงวันนี้ผ่านตัวพิมพ์ไทยดิจิทัลที่ผุดเป็นดอกเห็ด (โดยเฉพาะฟอนต์ลายมือนี่ตัวดีเลย) จึงกลายเป็นที่มาของบทความเชิงสารคดีเรื่องนี้


    “ที่เราจะมาย้อนรอยถึงแรกเริ่มที่เรามีระบบการจัดพิมพ์แบบตั้งโต๊ะ (Desktop Publishing) ในสยามประเทศ ที่ทำให้นักสร้างสรรค์ปล่อยของได้เต็มที่และสะดวกสบายขึ้น (จะท้าตีท้าต่อกับโรงพิมพ์ไหม…ก็ว่าไปอย่าง)”


    “ป๊อปคอร์นและน้ำโค้ก…พร้อม! (เสียงน้องซัทจัง รุ่นหนึ่งคนสุดท้ายของ BNK48 ที่ผลัดใบเส้นทางใหม่ของตัวเองเมื่อปีก่อน)”


    -


    - องก์ 1 : จากคัตเตอร์ - กาวยางสู่ก้านควบคุม -


    เนื้อหาในองก์นี้จะเป็นการเล่าคร่าว ๆ ว่า ก่อนจะมีคอมพิวเตอร์ไว้ออกแบบงานสิ่งพิมพ์นั้น เราผ่านอะไรมาบ้างในแง่มุมของคนที่สนใจการสร้างงานศิลปะ แม้จะไม่ได้เจาะถึงระบบการพิมพ์ในโรงพิมพ์ใหญ่ ๆ ว่ามีเทคโนโลยียังไง แต่เราจะมาย้อนวัยไปด้วยกันสำหรับคนที่ทันในช่วงเวลา 40-50 กว่าปีที่แล้ว “ในสมัยที่อาร์ตเวิร์คเป็นเรื่องของสองมือ สองตา หนึ่งใจ (ที่ต้องแลกด้วยเครื่องดื่มให้กำลังงานทั้งของใหม่ที่รสเข้มข้นและของเดิมที่แน่นอนกว่า…มั้ง)”


    - เพียงก่อนนั้นเรามั่นรักกัน เธอกับฉันเคยมั่นหมายปอง -


    ในเวลานั้น การทำสื่อสิ่งพิมพ์กราฟิกจะขึ้นอยู่กับไม้ฉาก คัดเตอร์ กระดาษโบร์ไมต์ ฉลุอักษร ชุดอักษรลอก และตัวเรียงพิมพ์ด้วยแสง (คนยุคนั้นจะเรียกว่าตัวเรียงคอมพิวท์ - Phototypesetting) โดยสองตัวหลังนี้คือพระเอกที่ทำให้ภาษาไทยในงานพิมพ์พูดได้




    ตัวแรกที่กล่าวคือ “ตัวอักษรลอก (Dry transfer)” นำหัวหอกโดย “มานพติก้า” โดย อ.มานพ ศรีสมพร ที่แจ้งเกิดบนบันไดดาราเมื่อปี 2516 (หลังจากเริ่มโครงการปี 2512 ภายใต้การคุมงานของ ดี เอช เอ สยามวาลา กับยักษ์ตัวอักษรลอกอย่างแมคคานอร์จากประเทศเนเธอร์แลนด์) กับเอกลักษณ์ “ตัว ร.เรือ เป็นตัว S ตัว ก.ไก่ เป็นเกือกม้า” ใช่ครับ นี่คือตัวอักษรศิลป์ไทยที่อินเตอร์ในยุคแรก ๆ ของไทยเลยก็ว่าได้ เพราะมีลักษณะของตัวพิมพ์สากลอย่าง Helvetica


    นอกจาก อ.มานพ แล้ว ยังมี อ.สำคัญ โกศัลวัฒน์ ที่เป็นผู้ออกแบบตัวอักษรลอกรุ่นราวคราวเดียวกัน และ อ.มานิต กรินพงศ์ ผู้อยู่เบื้องหลังตัวพิมพ์ “ยูเนสโก” ตัวพิมพ์ร้อนรุ่นราวคราวเดียวกันกับโมโนไทป์ ที่เส้นหนาเท่ากันตลอด (และมาในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นยุคตัวพิมพ์ตะกั่ว)...ซึ่งงานอักษรลอกของสามตำนานตัวขูดนี่ มีให้เลือกจนตาลายไปหมดสำหรับตัวพาดหัวในงานสื่อโฆษณายุคพระนครตอนนั้น


    และตัวเนื้อความล่ะ ใครเป็นพระเอก คำตอบมันบอกอยู่แล้ว “ตัวเรียงพิมพ์ด้วยแสง”




    ตัวเรียงพิมพ์ด้วยแสง (Phototypesetting) คือเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ทำงานคล้ายการล้างฟิล์มภาพถ่ายในห้องมืด — ใช้ฟิล์มเนกาตีฟร่วมกับกระดาษอัดรูปหรือแผ่นที่เคลือบสารไวแสง

    วิธีการคือ พิมพ์ตัวอักษรผ่านแป้นพิมพ์ (คล้ายการพิมพ์คีย์บอร์ด QWERTY ทั่วไป) จากนั้นให้แสงฉายผ่านฟิล์มเนกาตีฟลงบนกระดาษไวแสง เพื่อสร้างภาพตัวอักษรบนแผ่นงานหนึ่ง ๆ ตามขนาดหน้าหรือคอลัมน์ที่ต้องการ เมื่อเรียงพิมพ์เสร็จแล้ว ต้องนำแผ่นกระดาษนั้นไปล้างน้ำยาอีกครั้ง เพื่อให้ตัวอักษรปรากฏชัดและนำไปทำแม่พิมพ์ต่อไปได้


    โดยเสาต้นแรกนี้ถูกวางไว้โดยนักหนังสือพิมพ์ของไทยรัฐ อ.ทองเติม เสมรสุต (17 ตุลาคม 2460 - 23 กันยายน 2534) กับตัวพิมพ์ “ทอมไลท์” ที่มีเส้นแบบโครงเรขาคณิตที่เท่ากัน ตัดปลายจบตรงตั้งฉากและต่อมุมเหลี่ยมที่ชัดเจน ซึ่งเป็บแบบอักษรที่เรียบร้อยที่สุดในเวลานั้น โดย Major Debut เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2519 (หลังจากเริ่มพัฒนาเมื่อปี 2517 โดย ทองเติม เสมรสุต หัวหน้ากองการผลิตของ ไทยรัฐ ได้ร่วมมือกับบริษัท Compugraphic ผู้ผลิตเครื่องเรียงพิมพ์ระบบนี้ สร้างตัวพิมพ์ชุดอีเอซีขึ้นมา)


    ในเวลาต่อมาเมื่อปี 2523 ตัวพิมพ์ “ชวนพิมพ์” โดย อ.เชาวน์ ศรสงคราม ก็ถือกำเนิดขึ้น โดยเป็นตัวพิมพ์ที่ตั้งใจจะจับคู่ Helvetica ที่ปลายเส้นตัดจบแนวราบแสนสะอาดตา


    การมาของตัวเรียงคอมพิวท์ก็ได้มาแทนที่การพิมพ์แบบตะกั่วที่ใช้มานานโข โดยมีกระบวนการคือ ทำเลย์เอาท์ที่เขียนด้วยมือ และเอาเนื้อหาที่จะทำอาร์ตเวิร์คไปสั่งร้านเรียงพิมพ์คอมพิวท์ เลือกฟอนต์ เลือกว่าจะเอาเอนเท่าไหร่ ขนาดเท่าไหร่ พอได้ตัวพิมพ์ที่ยาวเป็นหางว่าวก็เอามาตัดปะจับฉากด้วยกาวยางทาบนกระดาษโบรไมต์พร้อมทำเพลตต่อไป


    และนี่คือโฉมหน้าฟอนต์ตัวเรียงพิมพ์คอมพิวในตำนานเมื่อ 39 ปีที่แล้วครับ ว่ามีตัวอะไรบ้าง




    มีอีกตัวหนึ่งที่ผมเองประทับใจ และเป็นน้องเล็กสุดของตัวพิมพ์ยุคเก่า นั่นคือ “ศิริชนะ” จากการจับมือของโวตร้าและไลโนกราฟิก ออกแบบโดย อ.เชาวน์ ศรสงคราม และ อ.วันชัย ศิริชนะ ที่เส้นบางมาก ความหนาของเส้นสม่ำเสมอ สัณฐานกว้างกว่าตัวอื่น จนตัวหนานี่หนักมาก



    เราจะเจอตัวเรียงพิมพ์เหล่านี้ในงานสื่อสิ่งพิมพ์ยุค 80s โดยเฉพาะปกเทปเพลงสตริง ที่ฝ่ายศิลป์และบริษัทโฆษณาระดมความคิดฟังเพลงทั้งบั้มที่ค่ายเขาให้มาแล้วต้องตีความเป็นภาพให้ได้อย่างอุตลุด

    ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ตัวพิมพ์ยุคนั้นคลาสสิกจริงในยุคโชติช่วงชัชวาลแบบนี้” (โดยเฉพาะศิริชนะ ที่เราจะเห็นในสื่อสิ่งพิมพ์ตั้งแต่ประมาณปี 2529 เป็นต้นมา)





    ถึงแม้จะคลาสสิกในสายตาคนชอบของเก่า แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อยเลย กล่าวคือ…ฝ่ายศิลป์ต้องมานั่งคำนวณว่าฟอนต์ขนาดเท่าไหร่ ฟอนต์เหมาะกับงานตามโจทย์ไหม เพราะถ้าทำผิดแล้วสั่งร้านพิมพ์ทำใหม่ก็ปิดงานไม่ทัน โดนเจ้านายด่าเสียเวลาเปล่า (แอบกระซิบ เนื้อเพลงด้านหลังก็จะมีร่องรอยตัวพิมพ์ที่จางบ้าง หนาบ้าง หลุดกรอบเลย์เอาบ้าง อะไรประมาณนี้)




    - ก็พอเธอเดินมาเปลี่ยนชีวิต (เมื่อคิด ๆไปใจเราก็แปลก ไม่ธรรมดา)-


    จนกระทั่งการมาของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) มันก็ค่อย ๆ เปลี่ยนวิถึชีวิตคนทำงานออฟฟิศได้อยู่ แต่ที่ชัดเจนกว่าคงจะเป็นกองทัพอัศวินม้าขาวที่ชื่อ “Desktop Publishing (DTP)” หรือการจัดพิมพ์ระบบตั้งโต๊ะ ที่นำทัพโดย Apple Macintosh ที่สตีฟจ็อบส์ และสตีฟ วอชเนียกเขาทำมาดีจริง โดยแนวคิดของระบบนี้จำง่ายแค่สามพยางค์ “ WYSIWYG (What You See Is What You Get)” "เห็นอย่างไรบนจอ ก็พิมพ์ออกมาได้อย่างนั้น" ซึ่งเป็นก้าวกระโดดจากยุคทำเลย์เอาต์ด้วยมือและกาวยางอย่างสิ้นเชิง


    และแน่นอน ระบบ Graphic User Interface (GUI) ผ่านก้านควบคุม (เมาส์) ที่เราใช้กันทั่วไปก็เป็นที่แพร่หลายจากคอมแมคอินทอชนั่นแล กล่าวคือ "ลาก-คลิก-วาง" เป็นกิจวัตรเลย




    ระบบ Desktop Publishing ของ Apple เริ่มต้นจริงจังในปี 2528 ด้วยโปรแกรมจัดพิมพ์เอกสารที่ชื่อ Aldus Pagemaker ซึ่งใช้เทคโนโลยีตัวพิมพ์ PostScript — ระบบฟอนต์แบบเวกเตอร์ที่คมชัดทุกขนาด ตั้งแต่เล็กเท่าก้อนกรวดจนถึงใหญ่ระดับแผนที่โลก ซึ่ง PostScript พัฒนาต่อมาเป็นมาตรฐาน OpenType ที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน โดย Adobe และ Microsoft ร่วมกันวางโครงสร้างใหม่ ใช้ระบบ Unicode รองรับช่องอักขระหลายหมื่นช่อง ใส่รายละเอียดอย่างอักษรหางยาว, เศษส่วน และสัญลักษณ์ต่าง ๆ ได้เต็มที่ 


    โดยโปรแกรม Pagemaker ช่วยให้นักออกแบบทำเลย์เอาต์ได้ด้วยเมนูกราฟิก ไม่ต้องง้อกาวยางหรือการตัดปะอีกต่อไป — และยังปูทางให้กับ Adobe InDesign ที่กลายเป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ในเวลาต่อมา  นอกเหนือจากตัวพิมพ์ Postscript แล้ว ขาดเครื่องพิมพ์ไปได้ยังไงกับ LaserPrinter และพี่บิ๊กอย่าง Imagesetter ที่ให้ความคมชัดสูงมากสำหรับการพิมพ์งานอาร์ตเวิร์คในกระดาษโบรไมต์เลย


    เท่านั้นยังไม่พอ สำหรับโปรแกรม Pagemaker เราสามารถแก้คำผิดได้เลยไม่ต้องลำบากลิควิดเปเปอร์ ยืดตัวอักษรอ้วนผอมได้ แยกไฟล์งานเป็นอาร์ตเวิร์คสำเร็จรูปส่งโรงพิมพ์/ฟิล์มแยกสี/สไลด์สี กล่าวคือ ประหยัดเวลาได้อย่างน่าอัศจรรย์ (ในเวลานั้น)


    อีกโปรแกรมที่มาไล่เลี่ยกันก็มีโปรแกรมสำหรับระบบ Desktop Publishing อย่าง Adobe Illustrator ในปี 2530 และ Aldus FreeHand ปี 2531 (ที่ไม่ได้เกี่ยวกับวงดนตรีขวัญใจวัย Gen Z T-POP เจ้าของเพลง “ขอให้เธอใจดี” ที่วันนี้ล่าสุดทั้งวงได้เข้าบ้าน Genie Records เรียบร้อยโรงเรียนอโศกแล้ว / ขอแสดงความยินดีด้วยครับ) สำหรับการทำคอมพิวเตอร์กราฟิกอีกด้วยจนมาถึงนักรบผู้ยิ่งใหญ่ที่เปลี่ยนวงการทำอาร์ตเวิร์ค Digital Art ตลอดกาลอย่าง Photoshop เมื่อปี 2533 


    - เพราะเธอคือคนแรก ที่ฉันให้ความรัก -


    สำหรับระบบการพิมพ์ตั้งโต๊ะในประเทศไทย ไม่แน่ชัดว่าเริ่มมาตอนไหน แต่ที่แน่ ๆ บริษัทสหวิริยาโอเอเป็นผู้นำเข้าคอมพิวเตอร์แมคอินทอชเป็นเจ้าแรก ๆ ในไทยในช่วงปี 2528-2529 ส่วนงานชิ้นแรกที่ใช้คอมพิวเตอร์ออกแบบทั้งเล่ม ขออนุญาตฟันธงว่า “ยังไม่แน่ใจว่าเป็นชิ้นไหนเช่นกัน”


    แต่จะเล่าถึงทีมงานโปรดักชั่นเฮาส์ในตำนานที่ชื่อ Omnivisions (ออมนิวิชั่น) ของ อ.สถิตย์ เลิศในเกียรติ ผู้พลิกวงการออกแบบปกอัลบั้มแบบ Symbolic ในไทยกับ “เมดอินไทยแลนด์” ของวงคาราบาว ที่เอาใบตองห่อแผ่นเสียง (ไม่ต้องมีคำบรรยายสำหรับอัลบั้มสามัญประจำบ้านชุดนี้ที่เป็นหลักกิโลวงการเพลงไทยสากล แถมแผ่นเสียงลาเบลแดงเหมือนในปกนี่ รุ่นนี้หากันให้ควัก เพราะจะมีแต่ลาเบลสีเหลือง) และปกอัลบั้มเพลงไทยกว่าร้อยชุด


    ซึ่งบทความนี้จะขอเล่าถึงประสบการณ์ของการใช้โปรแกรม Photoshop เมื่อแรกเริ่มเข้ามาในไทย (ใกล้จบองก์ 1 แล้วนะเพื่อน ๆ) โดยเริ่มจากการเรียงพิมพ์วางตัวอักษรใน Pagemaker แต่งภาพในโปรแกรม DigitalDarkRoom และ PhotoMac ผ่านคอมพิวเตอร์ Macintosh II  “และแล้วการเริ่มต้นใช้ Photoshop (ซึ่งยุคแรกที่เข้ามาในไทย จะแถมมากับเครื่องแสกนเนอร์ UMAX) ก็เริ่มขึ้นจากปกเทปอัสนี-วสันต์ ติ๊ก ชิโร่ และนีโน่ เมทนี”


    (ภาพจากนิตยสารคู่แข่ง เดือนตุลาคม 2536)

    ก่อนหน้านี้ในยุค 80s ทีม Omnivisions ก็ได้ทำปกอัลบั้มรวมฮิตของวงฟอร์เอฟเวอร์ชุด วันนั้น วันนี้ เมื่อปี 2530 กับปกสไตล์ Pop Art/City Pop ที่สดใสสบายตากับยุคสุขนิยม ซึ่งภาพวาดนี้ไม่ได้ใช้สีน้ำ สีแอร์บรัช “แต่ใช้โปรแกรมวาดรูปใน MS-DOS ที่ชื่อ Publisher Paintbrush ของค่าย ZSoft (ที่หน้าตาการใช้งานจะคล้าย Microsoft Paint)” ซึ่งบ่งบอกได้ว่า Omnivisions คือหนึ่งในผู้ริเริ่มการใช้ระบบ Desktop Publishing ในเมืองไทยเป็นรายแรก ๆ เลยก็ว่าได้




    ถึงแม้ว่าประวัติการมาของระบบ Desktop Publishing ในประเทศไทยจะมีเพียงเท่านี้ แต่ก็ถือว่า ประเทศไทยทันสมัยพอที่จะใช้คอมพิวเตอร์ในการออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์โดยสิ้นเชิง


    -
    จบองก์ 1 แล้ว พักชมสิ่งที่น่าสนใจสักครู่นึงครับ (ภาพจากนิตยสาร Modern Office ปี 31-32)






    -

    - องก์ 2 : ฟอนต์เยอะแยะมากมายเลย -


    หลังจากจบองก์แรกของบทความ DTP ในไทยแล้ว เราจะขาดพระเอกใหญ่อย่าง “ฟอนต์” ไปได้อย่างไรกัน ฉะนั้นแล้ว เนื้อหาในองก์ 2 นี้ จะเป็นการแกะรอยฟอนต์ไทยดิจิทัลแต่ละสำนักว่ามีเส้นทางยังไง และมีเอกลักษณ์ยังไง “อย่าได้พลาดสายตาเชียว”


    “ช่วงพักครึ่ง Intermission หมดแล้ว ป๊อปคอร์นน้ำโค้ก…พร้อม!!!”


    -


    1. DB (Dear Book)

    เป็นที่รู้กันว่าค่าย DB เป็นกราฟิกดีไซน์เฮาส์ไทยแท้รายแรก ๆ ที่ทำฟอนต์ดิจิทัลใช้เองตั้งแต่ปลายยุค 1980s และมีเหตุการณ์ระหว่างทางกับการสูญเสียบุคลากรสายออกแบบ และการสานต่อจนหยัดยืนมาเกือบ 40 ปี นับว่าค่ายเดียร์บุ๊คนี้คือเสาต้นแรกของตัวพิมพ์ดิจิทัลไทยที่ทำออกมาจริง ๆ จัง ๆ ภาพใต้แนวคิด “ตัวพิมพ์มีไว้อ่าน”...และเหตุเกิดมาจากปี 2530


    -อยากจะได้พบ Yes เจอกับเธอ (Aitakatta) -

    ทีมงานของค่าย DB ยุคแรก ประกอบด้วยคุณประสาท วีรกุล คุณองอาจ ชนาธิปกุล คุณสุรพล เวสารัชเวศย์ และ อ.ปริญญา โรจน์อารยานนท์ (สองบุคคลหลังนี้เวลาเจอบทความเรื่องตัวพิมพ์ดิจิทัลจะเห็นสองคู่ซี้บ่อยมาก) เริ่มต้นจากคุณสุรพลลงทุนศึกษาการทำฟอนต์ในคอมพิวเตอร์อย่าง Fontographer ด้วยตัวเอง (ในยุคที่คำว่า “ดิจิทัล” ห่างไกลกับพี่น้องชาวไทย) และสอนลูกทีมคนอื่นกับการใช้งานโปรแกรมนี้

    กล่าวคือ คุณสุรพลทำหน้าที่คุมช่องไฟตัวอักษรเป็นคู่ ๆ (Pair Kenring) ส่วน อ.ปริญญาควบคุมคุณภาพของรูปอักษร (Glyph) ทั้งความสม่ำเสมอของเส้นกรอบและความกลมกลืนแบบ-สัดส่วน แบบน้ำหนักอักษร

    ทันทีที่ทีมงานใช้ตัวคอมพิวท์ “พิมาย” เป็นแบบฝึกหัดทำฟอนต์ไทย…ประวัติศาสตร์ก็กำลังจะเกิดขึ้นตั้งแต่นั้น


    -คำว่าพยายาม ไม่เคยทำร้ายสักคนที่ตั้งใจ-

    จากตัวพิมายในยุคอนาล็อก ก็กลายเป็น DB ThaiText ฟอนต์ดิจิทัลตัวแรกของค่าย DB ที่ปรับปรุงแบบอักษรให้ดูทะมัดทะแมงและอ่านง่ายขึ้น กล่าวคือ รูปลักษณ์ตัวอักษรมีความอกผายไหล่ผึ่งมาก โดยเฉพาะตัว จ.จาน และ ง.งู ที่คอเฉียงจรดเส้นหลังซื่อๆและเหยียดหางตรงตามลำดับ

    ผมไม่รู้ว่าฟอนต์ DB ตัวต่อมาใครมาก่อนใคร อาจไม่มีหลักฐาน แต่สิ่งหนึ่งที่แน่ใจคือ “ถ้าจะมองเอกลักษณ์ของแต่ละตัว คงได้กลายเป็น Fanchant วง BUS Because of You Shine แน่นอน”





    - DB Narai เป็นตัวที่พัฒนาจากตัว ฝ.ศ. (ฝรั่งเศส) และมีเอกลักษณ์ตรงเลขไทยที่ดูแช่มช้อยขึ้น (นิตยสารสารคดีใช้ฟอนต์นี้บ่อยมากช่วงนึง ศิลปวัฒธรรมก็เช่นกัน)


    - DB Fongnam พัฒนาจากตัวทอมไลท์ผ่านการลดทอนรายละเอียดให้ดูมีความเรียบร้อย ใช้ได้ตั้งแต่งานราษฏร์ยันงานเล่น (พี่คนหนึ่งที่รู้จักกันบอกไว้ ฟอนต์ DB Fongnam ดังสุดแล้ว) เพราะอ่านง่ายสบายตามาก


    - DB Pradit ตัวพิมพ์แคบแต่สะอาด ฟอนต์อัตลักษณ์ของรถไฟ MRT สีน้ำเงิน


    - DB Patpong ตัวทรงพิมพ์สูงผอมเหลี่ยมฉาก ที่มาคู่กับ DB Private ที่เป็นเหลี่ยมและด้านนอกโค้ง (สองตัวนี้คือตัวที่บ่งบอกความ 90s นิวคิดไฟว์สตาร์ได้ชัดเจนสุดแล้ว…ในมุมผมนะ)


    - DB Erawan พัฒนาจากตัว Futura Extra Bold เป็นตัวพิมพ์ที่หนาที่สุดเท่าที่มีมาในเวลานั้น (รายการเวิร์คพอยท์ชอบใช้ตอนขึ้นกราฟิกเงินรางวัลเกมหา 0 หกตัวชิงล้าน)


    - DB Satorn พัฒนาจากตัว Franklin Gothic และตั้งใจใช้ตัวพิมพ์ดิจิทัลนี้แทนอักษรลอกมานพติก้า เป็นฟอนต์ไร้หัวที่ดังพร้อม ๆ กับตัวมีหัวอย่าง DB Fongnam


    DB Surawong ฟอนต์มีปลายจวักตวัดหางแบบไทย


    - DB Silom จากตัวพาดหัวหนังสือลลนา ก็เอามาปรับให้น่ารักขึ้น (เราเจอฟอนต์นี้ในปกเทปดำดีดูดีของฟอร์เอฟเวอร์ และเช็คบิลของสิวะ แตรสังข์ ปี 2532 แม้แต่ตัวพาดหัว “ถึก มึน มัน กินใจ” ของวงเขาควายที่เป็นจิ๊กซอว์ของเหล่าเด็กเทปซึ่งคนเล่นเขารู้กัน)


    (ตัวอย่างสื่อโฆษณาที่ใช้ฟอนต์ DB ทั้งหมด - จากหนังสือ The Quiet Storm ปี 2532)


    การมาของฟอนต์ DB 10 ตัวแรก (และยังมีขายเป็นชุดหน้าเว็บฟอนต์ DB ในวันนี้ หรือต้องเรียกว่าคลาสสิกไลน์อัพ) เป็นการพลิกโฉมการออกแบบกราฟิกด้วยคอมพิวเตอร์อย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ งานสิ่งพิมพ์โฆษณาตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมาเราจะเจอฟอนต์ค่ายนี้เต็มไปหมดในงานสิ่งพิมพ์และกราฟิกทีวีมัลติมีเดีย ในยุคนิกส์ที่เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า และทั้งหมดที่ว่ามายังมีการใช้งานจนถึงวันนี้ 


    นั่นแหละแฟนชานต์ของ DB - “Thaitext Narai Fongnam Pradit Private Patpong Erawan Satorn Surawong Silom DB is Dear Book DB is Ten!


    นอกเหนือจากงานฟอนต์สดใหม่ที่ DB ใช้เอง (และคุณสุรพลเปิดศูนย์ถ่าย DB Imaging Center ที่ให้ลูกค้ารับดัมมี่ฟอนต์ DB ไปใช้ในงานออกแบบกราฟิก) ทีมงานของ DB ก็ทำหน้าที่แปลงข้อมูลฟอนต์เรียงพิมพ์คอมพิวต์ของ EAC มาเป็นตัว Postscriptอีกด้วย กล่าวคือ บริษัท อีสต์เอเชียติ๊ก (ประเทศไทย) จํากัด ผู้แทนจําหน่ายเครื่องเรียงพิมพ์ Compugraphic เดิม ได้ว่าจ้างให้ Dear Book โยกย้ายตัวคอมพิวท์มาเป็น PostScript Font ที่ใช้กับเครื่องแมคอินทอชเพื่อใช้กับเครื่อง Imagesetter อีกด้วย


    -ถ้าเราเจอกันอีก-


    ในช่วงที่ฟอนต์ค่าย DB กำลังเฟื่องฟู ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น นั่นคือการเสียชีวิตของคุณสุรพล เวสารัชเวศย์ ในปี 2537 ด้วยวัยเพียง 39 ปี


    คุณสุรพล ชื่อเล่นว่า “ลิ้ม” เป็นนิสิตที่ถูกไทร์ออกจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ริเริ่มการมำฟอนต์ในคอมพิวเตอร์ด้วยตัวเอง มีบทความวิชาการเรื่องการฟอนต์ไทยมาตรฐาน การใช้คอมพิวเตอร์ระบบ DTP ในการออกแบบกราฟิกสิ่งพิมพ์และสิ่งสุดท้ายก่อนที่เขาจะออกเดินทางไกลนั่นคือ “การถือกำเนิดฟอนต์ DB ในนามทีมงาน Dear Book”


    ในหนังสืองานศพของเขา (ประวัติและผลงาน สุรพล เวสารัชเวศย์) มีเจตนารมณ์ของการต่อยอดการพัฒนาตัวพิมพ์ไทย และสานต่อสิ่งดี ๆ ที่เขาทำไว้  “เพราะตัวพิมพ์ควรมีอายุยืนยาวกว่าผู้ออกแบบ”


    -ก้าวไปสู่แสงทองของวันใหม่ด้วยตัวเอง-


    อ.ปริญญา เริ่มต้นคำว่า DB ใหม่ด้วยการตั้งบริษัท DB Design เมื่อปี 2542 และก่อกำเนิดตัวพิมพ์ที่หลากหลายขึ่น เช่น  DB Stick (ที่ปกเทป RS เคยใช้อยู่) หรือตัวเนื้อความใน DB Soda ที่พัฒนาจากตัว DB Fongnam ด้วยน้ำหนักฟอนต์ที่เพิ่มขึ้นทั้ง 7 และเริ่มนำไลน์อัพลาสสิกข้างต้นมาเปิดขายออนไลน์ครั้งแรกในปี 2548




    และไม่นานต่อมา ฟอนต์ขวัญใจมหาชนคนกราฟิกอย่าง DB Heavent (เดิม DB Helvethaica) ก็ถือกำเนิดขึ้น ใช่ครับ เราเจอฟอนต์นี้ตามงานกราฟิกทั่วไทยเลย ขึ้น BTS เจอบิลบอร์ดหรือสื่อโฆษณานี่ยิ่งแล้วใหญ่ (อีกตัวก็ DB Adman ฟอนต์สุดเนี้ยบประจำ “ป๋าเต็ดทอล์ก”)


    บนเส้นทางที่ยาวนานของ อ.ปริญญาคนนี้ ทำให้เขาได้รับรางวัลศิลปินศิลปาธร สาขาออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ประจำปี 2552 ซึ่งนั่นคือแสงทองที่ล้ำค่าของวงการศิลปะตัวพิมพ์ไทย


    ปัจจุบันฟอนต์ DB มีหลายชุดให้เลือกใช้ และมีงานอนุรักษ์ตัวพิมพ์รุ่นเก่าอย่าง DB Manit ที่พัฒนาตัวยูเนสโกของ อ.มานิต กรินพงศ์ ให้มีน้ำหนักหลายขนาด แถมอ่านง่ายอีกต่างหาก กับ DB Chuanpim ที่ทะมัดทะแมงขึ้น และเราจะเจอฟอนต์หลังในหนังสือของสำนักพิมพ์ Salmon (ฟอนต์ตระกูลอักษรลอก "มานพติก้า" ของ อ.มานพ ศรีสมพร และฟอนต์ตระกูล MN ก็เช่นกัน)


    ล่าสุดเมื่อปี 2567 ที่แล้ว ฟอนต์ล่าสุด DB Mixura ก็ออกมาให้เรายลโฉมกัน โดยมีจุดเด่นคือ “หัวขมวด” ในอักษรไทยมาทำเป็นตัววงกลม ซึ่งเป็นการมาร์คว่า DB ยังไปต่อไม่หยุดยั้ง

    และนี่คือสตอรี่ของฟอนต์ DB ฟอนต์ที่เราพบได้ กับการเดินทางหวานขมที่ยา่วนาน และโตมาด้วยกันครับ

    -


    2. JS (Jimmy Saveng)

    นี่คือเรื่องราวของฟอนต์ไทยที่ตีคู่มากับ DB แต่ของ DB เขาจะเอื้อกับผลไม้ แต่JS นี้ จะเอื้อกับหน้าต่างสีสี่ และมีความอนาล็อกในรูปดิจิทัล และสตอรี่ของ JS เป็นการพบกันระหว่างนักธุรกิจ กับคุณหมอภาคเหนือ จนเป็นตำนานอีกบทของตัวพิมพ์ไทยดิจิทัล


    -MS-DOS มีสิทธิ์ไหมค้าบ-



    จุดเริ่มต้นก่อนจะมาเป็น JS font มันเริ่มต้นจากโปรแกรม Desktop Publishing ของ MS-DOS อย่าง tofWrite/Orchid เป็น WYSIWYG word processor ภาษาไทยตัวแรกของ IBM PC โดยบริษัท 315 จำกัด ภายใต้การนำของบัณฑิตเศรษฐศาสตร์ มธ ที่ชื่อ “แสวง ตันติราพันธ์”


    คุณแสวงได้พบกับคุณหมอคนหนึ่งที่ชื่อจิมมี่-ภาณุฑัต เตชะเสน นักศึกษาแพทย์ลูกช้าง มช เมื่อปี 2529 โดยคุณหมอท่านนี้เป็นผู้พัฒนาระบบ DTP ดังกล่าว ใน MS-DOS ยุคแรกเริ่มนั่นเอง และแล้ว เดือนมกราคมปี 2533 บริษัท เจเอสเทคโนโลยี ก็ได้จดทะเบียนขึ้นมา


    -โลกคือละคร ทุกตอนต้องแสดง ทุกคนทนไป -



    ในเวอร์ชั่นแรกๆของฟอนต์ JS ฟอนต์เหล่านี้ถูกสร้างขึ้นในแบบ Bitmap ฟอนต์ แล้วจึงพัฒนาขึ้นเป็น Vector Font ในภายหลัง (Adobe Type 1 และ TrueType ในเวลาต่อมา) ส่วนเอกลักษณ์ทางรูปลักษณ์ของฟอนต์ตัวนี้มักจะแกะจากตัวอักษรลอก/ตัวตัดปะ/ตัวเรียงคอมพิวต์ ฟอนต์นี้จึงมีความอนาล็อกอยู่ในตัวเช่นกัน

    ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ชื่อฟอนต์แต่ละตัวจะตั้งชื่อตามดารานักร้อง ผู้ประกาศข่าว และตัวละครในวรรณกรรมน้ำเน่ามาทั้งนั้น เพราะคนทำฟอนต์นี้เขียนโปรแกรมไปดูทีวีไปนั่นเอง (มีความหัวหนังสือพวกดาราภาพยนตร์หรือทีวีพูลเลยเชียว)



    -แค่ได้คิดถึงก็เป็นสุขใจ-

    ไม่ใช่แค่ฟอนต์ JS ที่ชูโรงให้ 315 ยังมีระบบปฏิบัติการภาษาไทย Thaiwin ที่ยังไปได้สวยไม่แพ้กัน แต่หลังจากที่ไมโครซอฟต์เริ่มทำภาษาไทยใน Windows บริษัท 315 ก็ปิดตัวลงพร้อมหลีกทางให้หน้าต่างยักษ์ของวงการไอทีทำเอง

    คุณแสวงได้มอบฟอนต์ JS ให้เป็น Public Domain (สาธารณสมบัติ) ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตไม่นาน และมีผู้นำไปปรับปรุงอีกหลายรอบหลายเวอร์ชั่น เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆของการพัฒนาฟอนต์ในเมืองไทย ส่วนคุณหมอจิมมี่ยังคงอยู่ในแวดวงโปรแกรมเมอร์จนถึงวันนี้ (ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ JS Prasoplarp ที่มีคนต่อยอด-ตีความ-พัฒนาใหม่เป็น CS Prajad)


    ตำนานฟอนต์สาธารณสมบัติสุดคลาสสิกของไทยก็ยังคงเป็นที่เล่าขานอีกนานแสนนาน


    -


    3. ผมแอบชอบคุณอยู่

    แวะข้างทางไปเล่าถึงค่ายฟอนต์อีกค่ายที่เป็นเหมือนนักรบไดโนเสาร์คนที่ 6 สีเขียวอย่าง UPC ย่อมาจาก Unity Progress เจ้าของฟอนต์ Angsana Browalia และ Cordia ในตำนาน



    (ใครอ่านเป็นเสียงช่อง 9 การ์ตูนได้ยกมือขึ้น)



    สมัยก่อนค่ายนี้เป็นตัวแทนจำหน่ายคอมพิวเตอร์ Macintosh และก็ทำฟอนต์ของตัวเองด้วย ส่วนตัวผมต้องตาฟอนต์ลับแลตัวหนึ่งที่ชื่อ UPC-Merremia ที่รูปลักษณ์ไม่หนาไม่บางเกินไป ด้วยเส้นสายที่คมแต่ไม่แข็ง และการวางสระที่โปร่งแบบสมัยใหม่คล้าย ๆ Eucrosia UPC โดยเฉพาะกลิ่นอาย Thonburi ของ Apple มาเต็ม และเราจะเจอฟอนต์นี้ในมังงะเล่มเก่า ๆ ของ NED Comics พวกโดราเอมอน (ยอมรับว่าฟอนต์นี้สวยจริง แต่ผมขอแนะนำตัวที่ร่วมสมัยกว่าอย่าง CS Prakas ที่ให้ไวป์ Thonburi แบบติดแกลมไม่เบาเลยจะดีกว่า)


    อีกหนึ่งค่ายลับแล Graphico กราฟิโก บริษัทเรียงพิมพ์ที่เคยสร้างฟอนต์ในชื่อเดียวกันกับบริษัทเอง ซึ่งต่อมากลายเป็นต้นแบบของ Lily UPC บนฝั่งวินโดวส์




    รวมถึงตัวลับแลอย่าง GC Krisda ที่คนยุค 90s อาจจะหลงลืมฟอนต์ตัวนี้ไปแล้ว เป็นฟอนต์ตัวแคบสไตล์นางแบบแพรวสุดสัปดาห์ ที่มีเอกลักษณ์คือตัวม้วน ม.ม้า กับ น.หนูจะตีมุมเฉียง และเราจะเจอฟอนต์นี้ในยุคนั้นผ่านเครดิตปกเทป หรือกราฟิกเกมโชว์อย่างเกมจารชน หรือ ซูเปอร์ซี้ย่ำปึ๊ก 2000


    “ก็ขอแอบรักเงียบ ๆ ไว้ตรงนี้ — เพราะบางฟอนต์ไม่ได้ถูกจดจำจากโลโก้บนหน้าร้าน แต่จากปกเทป รายการเกมโชว์ หรือหน้ากระดาษนิตยสารที่เราโตมาด้วยกัน" ขอเล่าเท่านี้ไปก่อนดีกว่า สถานีต่อไปสตอรี่ใหญ่เอาเรื่องเลย


    -

    4. PSL (Panlop Smartletter)




    “น้องเล็กแต่สตอรี่ไม่เล็ก” คือคำนิยามของค่ายฟอนต์ PSL Smartletter — ฟอนต์เจ้าประจำร้านป้ายทั่วไทย ที่ไม่เพียงแต่เป็นที่นิยมด้านการออกแบบ แต่ยังเป็นผู้บุกเบิกการยืนยันว่า ตัวพิมพ์ก็มีลิขสิทธิ์ เช่นเดียวกับเพลง หนัง หรือเกมที่เรารัก



    -Our love is generation next-

    ฟอนต์ PSL ถือกำเนิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2539 โดยบุรษนาม “พัลลภ ทองสุข” โดยฟอนต์ตัวแรก ๆ ที่ทำออกมาคือ PSL Display ฟอนต์ตัวแคบที่ทันสมัยกับเส้นที่เนี๊ยบและเป็นระเบียบเท่ากันทุกน้ำหนัก ตอนนั้นคือช่วงปี 2538




    แต่ตัวชูโรงของ PSL จริง ๆ ได้แก่…PSL Kittithada ฟอนต์ไร้หัวตัวบางแห่งยุค Y2K ปี 2543 ที่เอามาใช้ในสื่อโฆษณาของเครือข่ายมือถือ Orange (True-DTAC ในปัจจุบัน) โดยมาในแนวคิด “ผู้สร้างชื่อที่ลือขานกันมา” หล่อเท่ก็ได้ เก๋ไก๋ก็ดี เป็นฟอนต์ขวัญใจเอเจนซีโฆษณาและสื่อสิ่งพิมพ์ยุค 2000s เป็นต้นมา และยังมีการใช้กันจนวันนี้




    -เขารักเธอเท่าไหร่ ฉันรักเธอมากกว่า-

    เอกลักษณ์ของฟอนต์ PSL คือความสดใหม่และใช้กับงานทุกอารมณ์ทุกสถานการณ์ จะมาไม้ไหนก็เอาอยู่ ตามเจตนารมณ์ของผู้สร้างสรรค์ คือ อยากให้ผู้ใช้ฟอนต์ได้ใช้ฟอนต์ที่ดี มีคุณภาพ และเป็นไปอย่างถูกต้องตาม กฎหมายเพื่อผลงานการออกแบบของท่านจะมีคุณค่า มีระดับ มีรสนิยม และดึงดูดใจผู้พบเห็นฟอนต์ในเนื่อความนั้น ๆ สดใหม่แค่ไหน ดูเอาเองแล้วกัน (แต่ส่วนตัวชอบ PSL Kanda ที่เป็นตัว Lower Third ของข่าวช่อง 3 ในวันนี้)





    ช่วงหนึ่ง PSL เคยจัดจำหน่ายฟอนต์ของตนเองในรูปแบบซีดีรอม แบบค้าปลีก เพื่อให้คนทั่วไปสามารถซื้อหาไปใช้งานได้ง่าย ในราคาย่อมเยา ถือเป็นการทำตลาดอย่างเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรงในยุคก่อนที่ระบบฟอนต์ออนไลน์จะแพร่หลาย


    -ฉันหวง ฉันมาทวงของฉันคืน-

    ย่อหน้าต่อจากนี้ค่อนข้างซีเรียส เพราะเรากำลังจะเล่าถึงการละเมิดลิขสิทธิ์ เนื้อร้ายบ่อนทำลายความคิดสร้างสรรค์ทุกยุคทุกสมัย ผมในฐานะที่โตมากับโฆษณากรมทรัพย์สินทางปัญญาก่อนดูตลกไรท์พิคเจอร์ (ที่เด็กถามหาพ่อที่โดนจับ / เด็กมาสอนว่า “อย่าไปขโมยความคิดคนอื่นเขา”) หรือเสียงอาไกวัล วีดีโอสแควร์อ่านคำเตือนทับเพลงเปิดการ์ตูนตอนหัวม้วน และการรณรงค์ต้านเทปผีซีดีเถื่อน หรือถ้าเอาเรื่องคน Gen Z ก็ดูเมะเถื่อนหนังเถื่อนทางเว็บเทา ๆ (ที่มีโฆษณาล่อแหลมมาก 4-5 ตัวกว่าจะดูหนังเหนือกฎหมายนั่น) “เรื่องนี้ไม่เขียนไม่ได้” 


    กล่าวคือ วงการสิ่งพิมพ์และออกแบบไทยมีพฤติกรรม “แจกฟอนต์กันเอง” อย่างแพร่หลาย ทั้งจากโรงพิมพ์ ทีมดีไซน์ ไปจนถึงร้านรับพิมพ์งานทั่วไป อันนั้นแค่น้ำจิ้ม


    จนกระทั่งการฟ้องร้องระหว่างค่าย PSL กับโรงพิมพ์ต่าง ๆ ในปี 2545  บางคนถึงกับเชื่อว่าตัวพิมพ์ไทยนั้นไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะ “เพราะพ่อขุนรามคำแหงออกแบบมาให้คนไทยได้ใช้”


    แต่ด้วยการทำฟอนต์ไทยในคอมพิวเตอร์นั้นตามคำกล่าวของผู้สร้างฟอนต์ PSL อย่างคุณพัลลภ บอกเอาไว้ว่า “การออกแบบฟอนต์ไม่ใช่แค่ออกแบบในกระดาษ แต่ต้องกำหนดช่องไฟ รูปลักษณ์ Kerning การประกอบคำ วรรณยุกต์ สระ ตำแหน่งสูงต่ำของตัวอักษร และคำสั่งอื่น ๆ ที่ทำให้ตัวอักษรเป็นไปตามมาตรฐานการพิมพ์”


    คำกล่าวข้างต้น นำมาซึ่งคำตัดสินของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเมื่อปี 2546 ที่ว่า “คอมพิวเตอร์ฟอนต์เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่สมควรได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์”


    นั่นหมายความว่า “ฟอนต์ไทยที่เราพิมพ์ กลายเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์โดยสมบูรณ์ เหมือนหนังละครที่เราดู เทปซีดีเพลงที่อดค่าขนมเพื่อจะเป็นหนึ่งในล้านตลับ และวีดีโอเกมที่เราเล่นซึ่งต้องกรอก Serial Number ในกล่องเกมแผ่นแท้”


    นับเป็นจุดเปลี่ยนของตัวพิมพ์ดิจิทัลไทยที่เปลี่ยนเจตนารมณ์ของ “ฟอนต์” ไปตลอดกาล เหมือนเพลงนั้นที่ของว่า “ของของใครของใครก็ห่วง ของใครใครก็ต้องหวง ห่วงใยรักใคร่ถนอม ใครจะชิงของใครใครยอม ถิงจนอดออม ไม่ยอมขายให้ใคร”

     นั่นแหละฮะ “ศักดิ์ศรีของนักสร้างสรรค์ตัวพิมพ์ไทยได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว”


    ปัจจุบัน เราก็ยังคงเห็นฟอนต์ PSL ตามทุกทิศทั่วไทย ไม่ว่าจะเป็นป้ายงานฝังลูกนิมิตยันโฆษณาออนไลน์ ด้วยความสดใหม่สำหรับศตวรรษที่ 21 ทำให้ฟอนต์ค่ายนี้ยังมีลมหายใจและยังใช้กันในจนถึงวันนี้


    -

    5. จงภูมิใจเถิดที่เกิดเป็นไทย - อันเนื่องมาจาก ฟอนต์แห่งชาติ และ Google Fonts

    เพราะเรามีฟอนต์แห่งชาติ ที่ไม่ได้แค่สวย แต่ยังสร้างมาเพื่อคนทั้งประเทศ 


    การมาของ “ฟอนต์แห่งชาติ” เกิดจากที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้จัดโครงการประกวดผลงานสร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ฟอนต์ขึ้นเมื่อปี 2550 เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาและสร้างสรรค์ผลงานลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ฟอนต์เพิ่มขึ้น เป็นอีกหมุดหมายของศักดิ์ศรีตัวพิมพ์ไทยที่ควรจดจำ


    กล่าวคือ เป็นการสร้างงาน สร้างทักษะ และสร้างตลาดทางด้านอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศ อันจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและผู้บริโภคที่สามารถเลือกใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ฟอนต์ที่มีความหลาก
    ลายมากขึ้นต่อไป



    มีสองตัวที่เด่น (จาก 13 ตัว) และผมประทับใจเป็นการส่วนตัวคือ TH K2D July 8 ที่เป็นตัวเนื้อความในมังงะค่าย NED Comic แทน UPC-Merremia และพระเอกของฟอนต์แห่งชาติของ SIPA นั่นคือ “TH SarabunPSK” ที่ใช้เป็นฟอนต์ราชการไทยแทนที่ Angsana New ตั้งแต่ปี 2554 (กรุณาเปิดเพลง “ดินสอสู่ปากกา” ของวง 2021 Ocean Vibes จะได้ความรู้สึกการเปลี่ยนผ่านฟอนต์ทำรายงานได้ดีเลย / เจ้าของเดียวกันกับเพลงนปโปะหม่ำ ๆ)



    ในปี 2559 แบบตัวอักษรภาษาไทยชุดแรกจำนวน 12 ไทป์เฟซได้เผยแพร่ผ่าน Google Fonts เป็นครั้งแรก ก่อนที่ 'ฟอนต์แห่งชาติ' ทั้ง 13 แบบจะได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีปัจจุบัน โดยรองรับมาตรฐาน Unicode เพื่อให้คนรุ่นใหม่มีตัวเลือกในการใช้งานมากขึ้น

    ต่อมามีการเพิ่มแบบพิเศษอีก 1 ไทป์เฟซ คือ Thasadith พร้อมทั้งเพิ่มฟอนต์เวอร์ชันภาษาไทยของ Noto และ IBM Plex อีก 5 แบบ รวมทั้งหมดเป็น 31 ไทป์เฟซในปัจจุบัน (ส่วนตัวแล้วผมชอบตัวไร้หัวอย่าง Mitr Kanit Prompt มาก ฟอนต์ขวัญใจกราฟิกโลกโซเชียลเลย)


    ฟอนต์แห่งชาติ คือแบบอักษรที่หน่วยงานรัฐสนับสนุนให้ใช้ เพื่อความเป็นเอกภาพ อ่านง่าย และรองรับเทคโนโลยีใหม่ รวมถึงการเผยแพร่ผ่านแหล่งเปิดอย่าง Google Fonts ให้คนทั่วไปใช้ได้ฟรี เพราะฟอนต์ไทยมีไว้ให้ทุกคนได้ใช้กันนั่นเอง


    6. จากเวลาที่ยาวนาน กับวันวานที่เลยไป


    หลังจากการฟ้องร้องลิขสิทธิ์ของ PSL และการประกาศฟอนต์แห่งชาติ ก็ได้เกิดชุมชนคนทำฟอนต์หน้าใหม่ในนาม f0nt.com ภายใต้การนำทัพของบัณฑิตสถาปัตย์ ม.ศิลปากร แอน-ปรัชญา สิงห์โต ที่ตั้งใจให้ชุมชนฟอนต์ของทุกเพศทุกวัยเป็นพื้นที่สร้างฟอนต์ของตัวเองและมาแชร์แลกเปลี่ยนกันได้ ด้วยข้อกำหนดคือ “ฟอนต์ใดก็ตามที่นำมาเผยแพร่ในเว็บฟอนต์.คอมขอให้แจกฟรี 1 น้ำหนัก หากใครอยากทำขายสามารถกำหนดเงื่อนไขในการใช้งานได้เลย”




    จากเดิมที่มีฟอนต์ตระกูล iannnnn (ไอ้แอน) ที่เป็นขวัญใจยุค Hi5 และเฟซบุ๊กยุคแรกสุด(ที่เข้ามาในไทย และพี่มาร์คยังไม่ได้ ปิ ด กั้ น ก า ร ม อ ง เ ห็ น แบบวันนี้) จนวันนี้ที่มีฟอนต์ที่สมาชิกเว็บนี้ได้สร้างรายได้ผ่านการใช้งานเชิงพาณิชย์ในราคาที่ต่างกันไปมานับไม่ถ้วน ภายใต้แนวคิดของเว็บนี้คือ “เติมวิญญาณใส่งานอักษร”



    ไม่ว่าจะเป็น Jipatype ที่มีบริการเช่าใช้ฟอนต์ทุกตัวเดือนนึงกับ 3 ใบเทามีทอน Pocket Fonts ฟอนต์ที่น่ารักสดใสในราคาสบายกระเป๋า (ส่วนตัวชอบ PK Nakhon Sawan ที่ได้กลิ่นอาย Cordia และปลายมนสไตล์ญี่ปุ่นคาวาอี้เนะเลย)



    หรือค่ายฟอนต์รุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง Fontcraft ที่หนึ่งชุดราคาเชิงพาณิชย์แค่หนึ่งใบม่วงเท่านั้น กับฟอนต์ที่ให้เลือกใช้อย่าง FC Vision FC Iconic FC Mission และการตีความฟอนต์ระดับโลกที่ทั้งรักทั้งชังอย่าง FC TahoMai อีกด้วย



    DR Design ผู้ออกแบบโลโก้รายการ People You May Know ของช่องฟาโรส ก็มีฟอนต์น่าใช้ในราคามาตรฐานกราฟิกดีไซน์เฮาส์ กลาง ๆ แต่จ่ายไหวอย่าง DRChailai ที่ดูแกลมมาก และชอบความปลายหัว ม.ม้า น.หนูเป็นติ่งงอกออกมา ติดแกลมไม่ซ้ำใครเลย (จะว่าไปแล้วก็ฝรั่งเศสยุคเรืองปัญญา แต่ปนัดดา เรื่องวุฒิ)



    คัดสรรดีมาก (Cadson Demak) ชื่อนี้ไม่ต้องมีคำบรรยาย ผู้อยู่เบื่องหลังฟอนต์สุขุมวิท ทองหล่อ ทองเติม รวมถึงคืนชีพตัว LC Manop ฟอนต์ดังยุค 90s มาเป็นตัว “Manop Variable” และฟอนต์มากมายที่ทันสมัย ภายใต้การนำของคุณอนุทิน วงค์สรรคกร และชาวคณะ (แถมค่ายนี้มีทำเพลงด้วย รายการ Podcast สายฟอนต์ สายการใช้ชีวิต และเพลง T-POP ก็มีเช่นกัน ปลุกความเป็นเด็ก Fat-Cat Radio ในตัวเรากัน)



    ฟอนต์องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ก็มีไว้ให้ใช้อย่างเหมาะสมและถูกกาลเทศะเช่นกัน เช่น ChulaCharas ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้กลิ่นอาย Cordia แต่น้ำหนักเบาสบายอ่านง่ายมาก หรือ RSU ของมหาวิทยาลัยรังสิต

    โดยมีเสาต้นแรกเมื่อ 25 ปีที่แล้วอย่าง SMB Advance สำหรับ GSM Advance ของบริษัทโฆษณาที่เป็นตำนานไปแล้วอย่าง SC Matchbox (ฟอนต์นี้พัฒนาต่อเป็น “สุขุมวิท”)




    และตัวลับแลอีกตัว SMB Empo สำหรับห้างเอ็มโพเรียม ที่เป็นตัวกลมบาง ๆ คล้าย ๆตัว Kittithada ที่เราจะเห็นในงานกราฟิกยุค 2000s จนถึงยุคปลาย 2010s เช่นโลโก้หนังเรื่อง "รักแห่งสยาม" ปกเทปของแกรมมี่ยุค 2000s ฟอนต์ฉลากไก่จ๊อแช่แข็งยี่ห้อหนึ่ง อย่างนี้ ๆ เป็นต้น



    แม้กระทั่งต่างชาติก็ยังทำฟอนต์ไทยด้วย (ฝรั่งแอบชอบใจ…ร้องต่อกันเองครับพี่น้อง!!!) อย่างที่ผมเช็กใน Adobe Fonts มา มีตัว Kohinoor Thai จากอินเดียที่มีกลิ่นอายเป็นเพื่อนนางเอกที่ดูเงียบ ๆ แต่บทบาทก็เด่นไม่แพ้กัน แม้กระทั้งตัวพิมพ์ระดับโลก Helvetica Neue World ก็มีไว้ให้สตรีมอักษรไทยได้เช่นกัน




    “และนี่คือการเดินทางของ Desktop Publishing ในประเทศไทย ผ่านตัวพิมพ์ดิจิทัลครับผม”


    -


    บทส่งท้าย : ข้อความนั้นของฉันและเธอ


    “ฟังเพลง ให้คิดถึงคนแต่ง

    กินข้าวแกง ให้นึกถึงชาวนา

    ใช้ตัวพิมพ์ ให้นึกถึงคนที่สร้างมันมา

    รู้เคารพภูมิปัญญา คือค่าของคน”


    คาถาประจำใจของ อ.ปริญญา แห่งค่าย DB เป็นตัวชี้ชัดว่า “เมื่อเราเคารพลิขสิทธิ์ของผู้อื่น เราก็ยิ่งได้รับการยอมรับจากชุมชนสร้างสรรค์ที่เราเป็นส่วนหนึ่ง และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความยั่งยืนในวงการ”


    ฟอนต์นั้นเป็นได้มากกว่าตัวพิมพ์ในงานต่าง ๆ เพราะมันสื่อความหมายได้ในตัว แทนความรู้สึกต่าง ๆ ได้อย่างอัศจรรย์ โดยเฉพาะเรื่องความรักความคิดถึงกัน


    เช่นเดียวกับเพลงนี้ “ข้อความนั้น” ของพี่อนุทิน Cadson Demak งานปลายปากกาพี่แอ้ม อัจฉริยา เจ้าแม่นักแต่งเพลง T-POP ที่ผมเองฟังทุกครั้งก็อมยิ้มตามไปก้บเพลงนี้เลย


    “ไม่ใช่แค่ตัวหนังสือ

    แต่มันคือความรักที่เธอส่งมาให้ฉัน

    คือความคิดถึงที่เราได้ส่งถึงกัน

    ทุกอย่างในข้อความนั้น

    คือเสียงที่เราได้ยินกันสองคน”


    ขอให้มีความสุขกับการใช้ฟอนต์นะครับ…สวัสดี


    นายต๊ก

    29-30 เมษายน 2568


    -


    ขอขอบคุณเป็นพิเศษ (ทุกคนเลย)


    บทความมหากาพย์นี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นเลย ถ้าไม่มีกำลังใจจากบุคคลเหล่านี้ที่ผมอยากจะขอบคุณ

    - คุณพ่อ คุณแม่ ที่สนับสนุนสิ่งที่รักมาโดยตลอด

    - พี่อนุทิน คัดสรรดีมาก ที่ส่งของขวัญเป็นหนังสือเกี่ยวกับฟอนต์ของค่ายนี้ (เพราะผมเคยรีวิวเพลงของค่ายนี้เมื่อปีสองปีที่แล้วในเพจดนตรีเพจหนึ่ง)
    - อ.สถิตย์ เลิศในเกียรติ ตำนาน Omnivisions ที่ให้แรงบิ้วให้เกิดบทความชิ้นนี้ขึ้นมา
    - น้องมะตูม โคกโพ น้องชายคนสนิทที่คุยเรื่องฟอนต์ วรรณกรรม เพลง ไอดอล หนังแบบถูกคอ
    - น้อง James TNK. จากเพจ Crazy Groovy ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลทีมงาน Omnivisions เมื่อ 3 ปีก่อน และได้ต่อยอดมาเป็นเรื่อง DTP ในไทย

    และขอบคุณนักอ่านที่น่ารักที่อ่านบทความนี้จนจบครับผม

    -


    แหล่งศึกษาเพิ่มเติม (ขออนุญาตไม่เรียกบรรณานุกรม เพราแอบเล่นใหญ่ไป และขออภัยที่พยายามทำอ้างอิงแบบ APA7 เต็มที่แล้ว อย่าถือสาเลยนะครับ)



    315 มองให้ไกล ไปให้ถึง. (2534). นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2533.


    กรดา ศรีทองเกิด. (2559). ชนิด หน้าตา เผชิญหน้า อักษร Type Face Face Type. คัดสรร ดีมาก.


    จารุจรรย์ ลาภพานิช. (2567). ฟอนต์.คอม คอมมิวนิตีสนับสนุนคนดีไซน์ฟอนต์ไทยให้เห็นคุณค่างานสร้างสรรค์จากตัวอักษร. https://adaymagazine.com/font-com-people-power/


    เจิมสิริ เหลืองศุภกรณ์, ณัฐจรัส เองมหัสสกุล, พงศ์ธร หิรัญพฤกษ์, ภูมิ รัตตวิศิษฐ์, ภาณุวัฒน์ อู้สกุลวัฒนา, สถาวิทย์ ฤาชา, สันติ ลอรัชวี, สุพิสา วัฒนะศันสนีย, และ เอกลักษณ์ เพียรพนาเวช. (2558). บันทึกบรรยาย "กำแพงคอนกรีต" . กรุงเทพฯ :คัดสรร ดีมาก


    ธมลวรรณ สมปอง (2547). สถานะของคอมพิวเตอร์ฟอนต์ภายใต้กฎหมายไทย. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.


    ธีรวัฒน์ พจน์วิบูลศิริ. (2543). การใช้ตัวอักษรไทยเพื่อสื่อสารบุคลิกลักษณะในงานออกแบบเรขศิลป์ . (วิทยานิพนธ์ศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชานฤมิตศิลป์ บัณฑิตวิทยาลัย, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

    นฤมล วีระวัฒนากร (2533). คอมพิวเตอร์กับงานโฆษณาสิ่งพิมพ์. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน.

     

    ปริญญา โรจน์อารยานนท์. (2552). ดีบี ชวนพิมพ์ มิติกว้างของงานอนุรักษ์. https://dbfont.biz/article/268


    ปริญญา โรจน์อารยานนท์. (2556). ดีบี โซดา กับฟองซ่าทั้ง 7. https://dbfont.biz/article/311


    ปริญญา โรจน์อารยานนท์. (2556). ดีบี ไทยเท็กซ์ ผู่ไม่ต้องการมีตัวตน https://dbfont.biz/article/310


    ปริญญา โรจน์อารยานนท์. (2553). ดีบี มานิต ชีวิตยาวไม่เท่าผลงาน. https://dbfont.biz/article/277


    ปริญญา โรจน์อารยานนท์. (2567). ดีบี มิกซูร่า เมื่อ สื่ อ ก ร ะ แ ส ห ลั ก เปลี่ยนไป 

    ถึงเวลา ฟ อ น ต์ ไ ท ย ต้องเปลี่ยนแปลง. https://dbfont.biz/article/1812


    ปริญญา โรจน์อารยานนท์. (2551). ดีบี สาธร สำเนียงไทยสไตล์ Gothic. https://dbfont.biz/article/256


    ประชา สุวีรานนท์. (2567). แกะรอยตัวพิมพ์ไทย. ฟ้าเดียวกัน.


    ประชา สุวีรานนท์ และคณะ. (2548). Open Types. นนทบุรี: สำนักพิมพ์ Core Function.


    ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, (2544). แบบตัวพิมพ์ไทย:


    สถิตย์ เลิศในเกียรติ. (2551). ย้อนรอยประวัติศาสตร์ Photoshop ภาคเมืองไทย กับสถิตย์ เลิศในเกียรติ  MacStyle, 9. 74 - 77.


    สถิตย์ เลิศในเกียรติ. (2568, 10 เมษายน, สัมภาษณ์). 

    สวนี วรรณกนก, , ปิยรัตน์ นิลบดี, และ เมตไตรย ศรีทอง, . (2558). หนึ่งรอยตัวเรียง : การเดินทางของตัวตะกั่วบนเส้นทางการพิมพ์ . กรุงเทพฯ: เจริญอักษร โฮลติ้ง กรุ๊พ.


    สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม. (2562). 70 สุดยอดผลงานเรขนศิลป์ในรัชกาลที่ 9.


    Jimmy. (2022). ThaiWin. https://jblog.io/thaiwin/.


    mweurope. (2010, January 22). Desktop Publishing Turns 25 – a DTP historical timeline. The Pre-Flight Story. https://preflight.wordpress.com/2010/01/22/desktop-publishing-turns-25-a-dtp-historical-timeline/


    Panutat Tejasen. (2556). กำเนิดฟอนต์ตระกูล JS และการกลับมาอีกครั้งในรูปแบบใหม่. [Image]. Facebook. https://www.facebook.com/photo/?fbid=548544991889214&set=a.206635192746864&locale=th_TH
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in